สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) แจ้งข่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมสานต่อภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จัดงานเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี
โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity ครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 26 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี)
พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้เเก่ 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2.บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด 4.การไฟฟ้านครหลวง 5.บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จํากัด 6.บริษัท ไลฟส์ มูฟวิ่ง จำกัด 7.บริษัท นิฮอน เดนเคย์ (ประเทศไทย) จำกัด 8.บริษัท เฮกซากอน เมโทรโลจี (ประเทศไทย) จำกัด 9.บริษัท ดิววีซอฟต์ (ไทยแลนด์) จำกัด 10.บริษัท อินโนวาแพค จำกัด11.บริษัท ช่วยราม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ให้การสนับสนุนพร้อมเข้าร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
โดยการแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้น 43 ทีม แบ่งเป็นทีมประเภทสถาบันการศึกษา 31 ทีม และเป็นทีมประเภทบุคคลทั่วไป 12 ทีม ซึ่งผลการแข่งขัน ประเภทกลุ่มสถาบันการศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม S27 PTL EV จากวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง ได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี เเละเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม S15 CHARAWAN RACING 2024 จากวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล เเละรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้เเก่ ทีม S07 UTCC จากวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
ส่วนประเภทกลุ่มประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม G08 วิศวกร ภาคกลาง ได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี และเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม G03 Phraya Phichai EV Bike ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล เเละรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม G04 รถไฟฟ้าสิงห์บุรี ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
ในปีนี้ยังมี 2 รางวัลพิเศษด้านนวัตกรรม ได้เเก่ รางวัลนวัตกรรมด้านแบตเตอรี่ เเละ รางวัลนวัตกรรมด้านความปลอดภัยในการขับขี่ (Safety) ซึ่งทีมที่คว้ารางวัลดังกล่าวไปได้ ได้เเก่ ทีม S23 ME Electric Bike RMUTT มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เเละทีม S06 Lion Dynamic มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท ต่อทีมอีกด้วย
โดยในการเเข่งขันครั้งนี้เริ่มการแข่งขันภาคสนามวันที่ 26 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการแข่งขันโดยแบ่งออกเป็น 3 สถานีหลัก เพื่อเปิดสถานีทดสอบรถ ได้แก่ E1 สถานีตรวจสภาพทางเทคนิค E2 สถานีตรวจสอบความเป็นฉนวน และ UNR 136 เเละ E3 สถานีทดสอบน้ำ ทั้งนี้ ได้มีจุดทดลองสนามเเข่งขัน เพื่อเปิดให้ทีมที่เข้าเเข่งขันได้ทดสอบพร้อมแจกอุปกรณ์วัดค่าพลังงานโดยการให้แต่ละทีมสามารถยืมอุปกรณ์ดังกล่าวไปทดสอบค่าพลังงานได้ พร้อมมีการทดสอบวิ่งรอบสนามแข่งขันรอบใหญ่ระยะทาง 1 กม. ต่อรอบ เเละในการเเข่งขันวันที่ 27 เมษายน เป็นการเก็บคะแนนด้วยวิธีการขับขี่บนสนามเพื่อวัดค่าพลังงานหลังครบ 1 ชม. หรือเมื่อใช้พลังงานครบ 1200 วัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่เข้าแข่งขันทุกคัน จะต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 150 กก. รวมน้ำหนักผู้ขับขี่แล้ว
นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. มีภารกิจในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมเพื่อความสุขของคนไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ส่งเสริมการลดมลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในปี ค.ศ. 2050 ตามนโยบายของภาครัฐ โดยได้ดำเนินงานส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 สำหรับการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ได้ศึกษาและพัฒนาเกณฑ์ประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูงสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า นำไปสู่การติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และสำหรับโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคตที่ผ่านมา กฟผ. ได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปขยายผลการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. และขยายผลการพัฒนาทักษะการดัดแปลงและซ่อมบำรุงให้กับประชาชนผู้สนใจอีกด้วย ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งที่ 3 นี้ กฟผ.มีความยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรม และเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้เเสดงศักยภาพด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตลอดจนเป็นการสร้างโมเดลทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นภายในประเทศ อันก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และโมเดลธุรกิจ BCG ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน”
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี) เผยว่า “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 เพื่อร่วมกันผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงเเละเเข็งเเรง ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากร รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการตอบรับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การจัดกิจกรรมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะ วิชาการ และความพร้อมของทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีส่วนช่วยผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรับรู้ให้แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชน ต่อบทบาทของยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยไอเสียหรือก๊าซเรือนกระจก ไม่สร้างมลพิษ ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นและเสียงรบกวน จึงไม่ส่งผลเสียต่อมนุษย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก”
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “ตามที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการขยับเข้าไปสู่ Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในภาคการขนส่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ รัฐบาลจึงได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งในวันนี้บทบาทสำคัญของสมาคมฯ คือ มุ่งที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยยานยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และการจัดกิจกรรมการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจเเห่งอนาคตนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนอกจากไม่ปล่อยมลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงอีกด้วย กิจกรรมนี้จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และบรรลุตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เสนอแนวคิดและนวัตกรรมในการพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ พร้อมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดโลก”