ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center หรือ MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค 2564 ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. นำโดย รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ZEV@35 ยานยนต์ไฟฟ้า 100 % ปี ค.ศ. 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งจัดโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย เเละบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จำกัด
โดยระหว่างการเสวนา รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น ยานยนต์ไฟฟ้าโลก (Global Electric Mobility) ช่วงปี ค.ศ. 2019 เเละ ค.ศ. 2020 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในเเถบ ยุโรป ตัวอย่าง เช่น นอร์เวย์ ไอซ์เเลนด์ เเละสวีเดน จำนวนยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเเต่ละประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชน โดยทางทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ ได้เสนอ วิสัยทัศน์ ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เเละชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ด้วยปัจจัยการขับเคลื่อนหลัก คือ การลดมลพิษทางอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เเละการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่
นอกจากนี้ทางคณะกรรมการยังได้เสนอให้ ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2035 ให้ยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ภายในประเทศ เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 100% โดยเร่งผลักดันมาตรการการผลิตยานยนต์ภายในประเทศเป็น ZEV ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยปัจจุบันยานยนต์ ZEV ในประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบตเตอรี่ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ทั้งหมด ถึงเเม้ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) การจดทะเบียนใหม่เป็น BEV มีจำนวน 2,999 คัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1 % เทียบกับยานยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด เเต่มีการเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 90 % เมื่อเทียบกับในปี ค.ศ. 2019
ด้าน รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ได้ให้ข้อมูลว่า “จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดีย www.facebook.com/kmuttmove โดยศูนย์วิจัย MOVE มจธ. www.facebook.com/kmuttmove ต่อเรื่องประเทศไทยจะยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี ค.ศ. 2035 พบว่า 31% ให้ความเห็นเรื่องช่วงเวลาการยกเลิก เเละคิดว่าช่วงเวลาปี ค.ศ. 2035 ช้าเกินไป โดยส่วนตัวคิดว่า หากมีมาตรการที่กระตุ้นทั้งผู้ซื้อ เเละผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับเเนวโน้มการใช้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในขณะนี้”
นอกจากภาคประชาชนจะเริ่มตื่นตัวในเรื่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเเล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในสังคมที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน กล่าวคือ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญมากเนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย แก้ไขกฎระเบียบ และ ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการริเริ่มโครงการต่างๆ หรือ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ (Start up) ส่วนภาควิชาการจะมีบทบาทสำคัญในการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ ภาคเอกชน จะมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้งานได้จริง โดยมีราคาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องเริ่มเเสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และสุดท้ายสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชนนั้นเอง จะต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
- เกี่ยวกับศูนย์วิจัย MOVE มจธ.
ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center หรือ MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2020 โดยมี รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัย มีวิสัยทัศน์ในการก้าวเป็นผู้นำด้านยานยนต์สมัยใหม่ที่ยั่งยืนผ่านการวิจัย นวัตกรรม และการศึกษา โดยมีพันธกิจเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านยานยนต์สมัยใหม่บนพื้นฐานแนวคิด CASE (Connected, Autonomous,Sharedและ Electrified) พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายมีบุคลากรจากหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยฯ และมีแผนพัฒนาและสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยเพื่อรองรับการทดสอบและวิจัยด้านยานยนต์สมัยใหม่