นายอนุชาติ ดีประเสริฐ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจประมูลรถระดับชั้นนำของเมืองไทยเปิดเผยเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ในสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์ขายรถยนต์ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 นั้นโดยภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัว ด้วยสภาพเศรษฐกิจ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าพิจารณาจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.63) ยอดขายลดลงประมาณ 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยลดลงในรถยนต์ทุกประเภท ในขณะที่รถยนต์มือสองก็มีสภาพในทิศทางเดียวกัน สำหรับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อราคารถยนต์มือสอง มีดังนี้ เช่น
1.คาดว่าผลกระทบมีทิศทางเช่นเดียวกัน แต่การซื้อขายรถยนต์มือสองอาจจะน้อยกว่ารถยนต์ใหม่ เนื่องจากในภาวะวิกฤติความต้องการใช้รถยังคงมีอยู่ เพื่อประกอบอาชีพบางประเภท และการใช้งานในชีวิตประจำวัน เมื่อสภาพเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อของประชาชนลดลง ความต้องการซื้อรถยนต์ในราคาที่ประหยัด จึงเป็นการทดแทนรถยนต์ใหม่ได้ ทำให้การซื้อขายรถยนต์มือสองยังมีอัตราการเติบโตอยู่บ้าง โดยไม่ถึงกับชะลอตัวเท่ารถยนต์ใหม่
2.ผู้ประกอบการรถยนต์มือสองหรือเต็นท์รถยนต์ ยังมีการซื้อรถยนต์เข้า เพราะการแข่งขันเรื่องราคาไม่สูงมากนัก โดยมีการเลือกซื้อรถยนต์มือสองในราคาที่เหมาะสม และคาดว่าเป็นรถยนต์ที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการอยู่ 3.ถ้าพิจารณาจากราคารถยนต์ที่มีการประมูลขายในตลาดประมูลรถยนต์พบว่าราคาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ทั้งที่ควรจะปรับลดลงช่วง Low Season ของการซื้อขายรถยนต์ แต่ราคายังทรงตัวอาจจะลดลงในบางยี่ห้อประมาณ 5-10% จากช่วงเดือนก่อนหน้านี้เท่านั้น
นายอนุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มตลาดรถยนต์ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2563 คาดการณ์ไว้ดังนี้ เช่น 1.จากสถานการณ์แพร่ระบาดและการควบคุมการระบาดภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในเรื่องของตัวเลขการติดเชื้อ แต่คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการปลดล็อคเพื่อให้การดำเนินธุรกิจยังคงมีต่อเนื่องและจะผ่อนคลายลงบ้าง จะทำให้การทำมาค้าขายกลับมาดีขึ้น
2.คาดว่าประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้ การซื้อขายรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์มือสองจะกลับมาเร็วกว่ารถยนต์ใหม่ เพราะความต้องการใช้รถในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ยังมีความต้องการอยู่ในขณะที่ประชาชนยังมีกำลังซื้อต่ำ จะเลือกซื้อรถยนต์มือสองมากกว่าเพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า
3.คาดว่าธุรกิจเกือบทุกประเภทจะมีการปรับตัวโดยการทำงานในลักษณะซื้อและขายออนไลน์มากขึ้น แต่คาดว่าระบบขนส่งสินค้า หรือการเดินทางยังต้องมีความจำเป็นในการใช้รถยนต์ทั้งสิ้น
4.ถ้ามองในภาคธุรกิจการเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจในเมือง ดังนั้นความต้องการใช้รถยนต์ในภูมิภาคยังคงมีอยู่ เพียงแต่ชะลอการซื้อลงไปบ้างเมื่อสถานการณ์กลับมา กลุ่มนี้อาจจะขับเคลื่อนได้เร็วกว่า
นายอนุชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การปรับตัวของผู้ประกอบการรถยนต์มือสอง เช่น 1.ปรับกลยุทธ์การขายในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสื่อสารสินค้าถึงผู้บริโภคโดยไม่มีข้อจำกัดของการเดินทาง 2.ผู้ประกอบการคงต้องเลือกเก็บรถยนต์ในกลุ่มที่ลูกค้าต้องการและมีสภาพคล่องดี เช่น รถปิคอัพ รถยนต์นั่งที่ราคาไม่สูงมากนัก เพื่อตอบสนองความต้องการในสภาพเศรษฐกิจที่เงินมีจำกัด
3.ต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อหาลูกค้าที่มีคุณภาพที่สามารถผ่อนภาระค่าซื้อรถได้ โดยช่วยคิดกรองลูกค้าที่มีความต้องการรถยนต์ตามกำลังความสามารถทางการเงินจริง ๆ 4.ผู้ประกอบการรถยนต์ควรคำนึงถึงสภาพคล่อง (Cash Flow) ของบริษัทให้สอดคล้องกับกำลังขาย หากมีความจำเป็นต้องระบายสินค้า ก็ควรทำเพื่อรักษาสภาพคล่องของตนเอง
5.ติดตามราคารถยนต์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดการขาดทุนเพราะราคารถยนต์บางประเภทที่อาจตกลงเร็วตามสภาพ ยี่ห้อในแต่ละช่องเวลา 6.ปรับราคาขายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อการระบายสต๊อกของตนเองให้รวดเร็วขึ้น หรือขายกำไรน้อยลงเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าเก่าให้มากยิ่งขึ้น 7.อาจคิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะให้เช่า แลกเปลี่ยน เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เป็นต้น
#########